วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มะม่วง R2E2 : ตลาดจีนและรัสเซีย ไม่ควรมองข้าม

มะม่วง R2E2 ปลูกที่ บ้านทิ จังหวัดลำพูน
มะม่วง อาร์ทูอีทู ( R2E2 : Row 2 Experiment 2)   หลายคน อาจจะเคยเห็น เคยรับประทานมาบ้างแล้ว หรือบางคนอาจจะเรียกชื่อเป็นมะม่วงแอปเปิล แต่เชื่อว่า ยังมีอีกหลายคนอาจจะไม่รู้จัก มะม่วงอาร์ทูอีทู (R2E2)  มีชื่อเต็มว่า Row 2 Experiment 2   เป็นสายพันธุ์ Kent ที่นำเมล็ดมาจาก มณรัฐฟอร์ลิดา  นำมาทดลอง และพัฒนาสายพันธุ์ ที่ DPI & F’s Bowen Research Station ในออสเตรเลียโดย Ian Bally, Ross Wright and Peter Beal ทำการทดลองขึ้นในปี 1982 และเริ่มขยายพันธุ์ ในเชิงพาณิชย์เมื่อปี 1991 จนปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองลองจากมะม่วง Kensington Pride ในออสเตรเลียเช่นกัน
มะม่วงอาร์ทูอีทู มีเปลือกหนาทนทานต่อโรค จึงทำให้มีอายุหลังการเก็บเกี่ยวอยู่ได้นานเหมาะสำหรับตลาดการส่งออกที่ต้องใช้ระยะเดินทางไกล    ลักษณะโดยทั่วไป เป็นมะม่วงที่มีผลกลมค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 600-1000 กรัมต่อผล หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับการดูแลของเกษตรกรแต่ละคน ลักษณะของสีโดยรอบเป็นสีเขียวอ่อน บริเวณที่ถูกแสงแดดด้านหัวจะมีสีแดงอมส้ม เนื้อมีสีเหลืองเลม่อน มีเส้นใยต่ำ เนื้อแน่น มีส่วนที่เป็นเนื้อประมาณ 77 % รสชาติหวานปานกลาง (14-17 Brix ) กลิ่นหอมหวานอ่อน ๆ ฤดูกาลที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในออสเตรเลีย ช่วงเดือน พ.ย., ธ.ค., ม.ค. และ ก.พ. โชคดี ที่ประเทศไทยสามารถผลิตและเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน มี.ค., เม.ย., และ พ.ค.  ซึ่งสิ่งนี้แหล่ะครับ ที่จะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย สามารถผลิต และขายส่งออกไปไกล ๆ อย่างที่ออสเตรเลียทำ แต่ต้องระวังมะม่วงจากไต้หวัน และจีน(ซึ่งมีมะม่วงไขเท่อ เคียต : Keitt  ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงและมีจำนวนมาก) ฤดูกาลจะเริ่มในช่วง พ.ค. - พ.ย. เพราะไต้หวันเองก็เป็นแหล่งผลิตมะม่วงที่สำคัญเช่นกัน (ที่ไต้หวัน เรียก อาร์ทูอีทู ว่า  Peach Mango)  ส่วนในออสเตรเลีย มีพื้นที่การปลูกมะม่วงในหลายแห่ง เช่น Darwin and Katherine ใน  Northern Territory, Kununurra , Carnarvon   ใน Western Australia ,  Mareeba ,  Burdekin , Bowen ,  Rockhampton ,  Bundaberg  และใน  south-east Queensland.
สำหรับในประเทศไทย นั้น คุณวารินทร์ ชิตะปัญญา บ้านเลขที่ 107/1 หมู่ 1 ต.บ้านฉาง อ. บ้านฉาง จ.ระยอง  ได้เดินทางไปกับทัวร์เกษตรในปี 2532  ที่ประเทศออสเตรเลีย  พบมะม่วงสายพันธุ์ดังกล่าว น่าสนใจตรงที่ผิวมีสีแดงและสีเหลืองสวยงาม ต่างจากมะม่วงที่มีในประเทศไทย จึงได้นำกิ่งมะม่วงดังกล่าวมาขยายพันธุ์และปลูกในประเทศไทย   เป็นเกษตรกรที่บุกเบิกการปลูกมะม่วงอาร์ทูอีทูในเชิงพาณิชย์ เป็นคนแรกของเมืองไทย และส่งออกจีนเป็นตลาดหลัก ปัจจุบันมีผู้เอามาปลูกและขยายพันธุ์หลายราย เช่น บริษัท ซีพี คุณลุงอินทร์ คุณราเชน ฯลฯ  มะม่วง อาร์ทูอีทู เป็นมะม่วงที่ สามารถทำให้ออกนอกฤดูได้ เช่นเดียวกับมะม่วงน้ำดอกไม้ พื้นที่ที่เหมาะสม ปลูกร่วมมะม่วงน้ำดอกไม้ได้เช่นกัน
แหล่งผลิตอื่น ๆ ในเมืองไทย ผมได้มีโอกาสคุยกับ คุณบรรหาญ    จากบริษัท ซีพี ไดมอนสตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซีพี เล่าให้ฟังว่า สวน มีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เบอร์สี่ มะม่วงมหาชนก และยังมีมะม่วงอาร์ทูอีทูปลูกแบ่งโซนอยู่ด้วย ปลูกที่ชลบุรี และราชบุรี  เก็บเกี่ยวได้ช่วงระหว่าง ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนมีนาคมที่ชลบุรี และปลายเดือนมีนาคม จนถึงกลางเดือนเมษายน หรืออาจะมีหลายรุ่นยืดไปจนปลายเดือนเมษายนที่ราชบุรีในขณะที่รายอื่นจะออกผลในช่วงพฤษภาคม(ปีนี้ออกล่า มิถุนายน จนถึงกรกฎาคม)  ปริมาณที่ปลูกนั้นมีเป็นช่วงสั้น ๆ เมื่อที่ชลบุรีหมด ไปต่อที่ราชบุรี และ เมื่อราชบุรีหมด อาจจะมาต่อที่ชลบุรีในอีกรุ่นต่อไป ไม่ต่อเนื่องเหมือนน้ำดอกไม้
อำเภอบ้านทิ จังหวัดลำพูน นับว่าเป็นอีกแหล่งของมะม่วง R2E2 ที่ผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก ทั้งสีสรร ความสวยงาม ขนาด พอเหมาะ ช่วงเวลาที่ออกส่วนใหญ่เป็นช่วง เดือน พฤษภาคม มีถุนายน (ปีนี้ ล่ากว่าปีที่ผ่านมา เก็บเกี่ยวในช่วง มิถุนายน กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มะม่วงจากออสเตรเลีย หรือจีนเองยังไม่มีผลผลิตออกมา เมื่อปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาศเยี่ยมเยียนสวน คุณลุง ทองอินทร์ อภิวงศ์งาม ที่มีทั้ง มหาชนก และ R2E2 อยู่พอสมควร(R2E2 ประมาณ 800-900 ต้น มีตั้งแต่อายุ 3-4-5 ปี ปีนี้คาดว่าน่าจะมีปริมาณมาก เพราะต้นอายุ 3-4 ปี เริ่มติดดอกออกผล(เท่าหัวแม่มือ) จำนวนมาก น่าจะได้ผลผลิต ประมาณ 10 ตัน ขึ้นไป มหาชนก มีปริมาณมากเช่นกัน ตลาดส่วนใหญ่ มหาชนกก็เป็นตลาดญี่ปุ่นแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสึนามิอยู่บ้าง ในส่วนของผลผลิตจากภาคกลาง) ส่วนในช่วงเก็บเกี่ยว(ภาคเหนือ) น่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะหลายฝ่ายคาดกาลว่าอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะกลับมาสู่สภาพปกติ ส่วน R2E2 เป็นช่วงที่ทั้งจีนเอง และออสเตรเลียที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ยังไม่มีผลผลิต ดังนั้น มะม่วงจากไทยจึงมีโอกาสแจ่มใสในจีน ลุงอินทร์ เล่าให้ฟังว่า ที่สวนนั้น ปลูกอยู่เนินเขาส่วนใหญ่ ตัดแต่งกิ่งโปร่ง ทำให้แสงแดดสาดส่องได้ทั่วถึง สีสรรจึงสวยงาม(มีสีแดงแต้มเกือบทุกผล) และลุงอินทร์ดูแลอย่างมืออาชีพ ดังนั้น มะม่วงจากสวนลุงอินทร์จึงเป็นที่ต้องการของผู้ส่งออกโดยทั่วไป
แหล่งผลิตอื่น ๆ ปัจจุบันเริ่มมีการนำพันธุ์มะม่วงไปปลูกกระจายหลายจังหวัด เช่นที่ย่านบางแพ ราชบุรี กาญจนบุรี ทางภาคเหนือ มีย่านพร้าวจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย ของโครงการหลวงก็มี แต่ปริมาณยังไม่มากนัก ใครที่คิดว่าจะขยายพันธุ์ เพิ่มต้องให้ความสนใจเรื่องช่วง ความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการแข่งขันที่มีจากแหล่งผลิตที่สำคัญอย่างจีนเอง ออสเตรเลียและ ไต้หวัน ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาด
 วิธีการบริโภค  รับประทานแบบสุกโดยใช้มีดคมผ่าออกเป็น สองซีก ใช้มีดกรีดเป็นแนวด้านตรง และด้านขวาง (ตามรูป) แล้วใช้มือหัวแม่มือจับที่ขอบเปลือก ใช้นิ้วที่เหลือดันด้านล่างเพื่อให้เนื้อแยกออกเป็นส่วน ๆ  ใช้มีด หรือช้อนตักออกรับประทาน รสชาติหวานอ่อนๆ เหมาะสำหรับทานและเป็นรสชาติที่คนทั่วไปชอบ หรือกรณีรับประทานดิบ หั่นเป็นชินบาง ๆ ทำสลัด เป็นที่นิยมมากใน ยุโรป  ตะวันออกกลาง รวมถึงรสเซียด้วย
ตลาดจีน ตลาดใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนในปีที่ผ่านมา (2553) มีมูลค่าถึง 21,473.20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33.21% (www.ryt9.com/s/bmnd/1090845, Retrieved 22 February 2011) เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยโดยเฉพาะผลไม้ ขณะนี้ คนจีนมีฐานะและต้องการสินค้าคุณภาพดีจากไทย การขนส่งสะดวกสบายโดยใช้เส้นทาง R3A เชื่อมโยง ไทย-ลาว-จีน จากเชียงของสู่คุนหมิง และเส้นทาง R9  เชื่อมโยงไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน จากมุกดาหารสู่ด่านโหวยอี้กว่าน ช่วยย่นระยะทาง ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าเกษตรที่ยังคงคุณภาพ นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศเดียวที่อยู่ทุกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยจึงมีบทบาทสำคัญและกำลังเกิดความร่วมมือกับจีนคือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์ Logistic คู่กับกวางโจว โดยจะผลักดัน ให้กวางโจวเป็นศูนย์ logistic ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก จีนต้องการให้ไทยเป็นคู่แฝดกับกวางโจว โดยคู่แรกทางสนามบินได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ-เจียงหนาน คู่ที่สองทางเรือได้แก่ท่าเรือแหลมฉบัง-ห่วงกู่(แม่น้ำกู่เจียง) และคู่ที่สาม คือเส้นทางบก นครพนม-หนานหนิง ซึ่งทำให้ระบบ logistic สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
      ช่วงเวลาที่เหมาะในการขายผลไม้ไทยในจีน  ช่วง ตรุษจีน วันเมย์เดย์ วันชาติจีน วันไหว้พระจันทร์ เป็นช่วงที่ผลไม้จากเมืองไทยเป็นที่นิยมมากของคนจีนในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่า ทุเรียน ลำไย มังคุด กล้วยไข่ จะเป็นผลไม้ไทยที่คนจีนนิยมบริโภคมานาน มะม่วงน้ำดอกไม้ รวมทั้งมะม่วงอาร์ทูอีทู ก็ยังเป็นผลไม้ ดาวเด่นอนาคตสดใสในตลาดจีน ที่สามารถทดแทน มะม่วงไคเท่อร์(เคียต)ได้เช่นกัน 
จีน เป็นตลาดใหญ่ที่หลากหลาย เช่น เชี่ยงไฮ้(ราคาดี)  กวางโจว(ปริมาณสูง) ต้องการสินค้ามีคุณภาพสูง เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวเศรษฐกิจ และค่าครองชีพสูง และที่กำลังจะตามมา อย่างคุน หมิง(มณฑล ยูนาน)  แต่ละมณฑล มีประชากรมาก มีหลายมณฑล แม้ว่าจะมีอัตราภาษีท้องถิ่นสูง แต่ถ้ามีเทคนิค และวิธีการดี ๆ ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ สามารถดูดซับสินค้าจากเมืองไทยได้อย่างไม่ยากนัก มะม่วงไทย ไม่ว่า น้ำดอกไม้ มหาชยก อาร์ทูอีทู  แม้ว่าจะต้องแข็งขันกับมะม่วงในท้องถิ่น หรือจากประเทศอื่น ๆ ที่คุณภาพดี ราคาถูก ที่สำคัญ ผู้ส่งออกต้องมีความรู้ความเข้าใจในตลาดจีน แต่ละมณฑลอย่างลึกซึ้ง ช่วงเวลาที่จีนต้องการ เช่น ก่อนตรุษจีน ช่วงเดือนเมษายน ช่วงวันชาติจีน ช่วงวันไหว้พระจันทร์ คนจีนถือว่าวันสำคัญ ๆ นี้ เป็นวันที่ต้องใช้ผลไม้ที่มีคุณภาพสูง ของดี เพื่อไหว้บรรพบุรุษ อีกทั้งนำเป็นของขวัญของฝาก ในขณะเดียวกันต้องดูด้วยว่า คู่แข่ง อย่างออสเตรเลียที่จะมีเข้ามาไปขายช่วงไหน ของไต้หวันเอง (ซึ่งส่วนใหญ่มะม่วงในจีน เช่น ไขเท่อ (เคียต:Keitt) เป็นมะม่วงที่นำสายพันธุ์ และวิธีการปลูกมาจากไต้หวัน)ของจีนเองที่มีปริมาณมาก ต้องดูว่าอยู่ที่มณฑลไหน เพราะแต่ละมณฑลเองอยู่ห่างไกล บางแห่งถูก แต่อยู่ไกล เช่น ที่“พั่นจื้อฮว้า” ของมณฑลเสฉวน ช่วงนี้ยังไม่มีผลผลิต(มีนาคม) จะเริ่มประมาณเดือนเมษายนราคาช่วงแรกก็เหมือนบ้านเรา แพง และค่อย ๆ ลง มีบางช่วงมีผลผลิตน้อยราคาก็อาจจะสูงริ่ว ได้เหมือนกัน (ราคามะม่วง ไขเท่อ (เคียต:Keitt)  คนละสายพันธุ์ กับ อาร์ทูอีทู ลักษณะคล้ายกัน แต่ที่จีนนิยมปลูกเพราะทนต่ออากาศที่มีความแตดต่างกันมาก ๆ ได้ และสามารถปลูกในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 800-1400 เมตรจากระดับน้ำทะเลได้ ดังนั้นราคาที่ “พั่นจื้อฮ้วา” ในช่วง พฤษภาคม-มิถุนายน 15-20 บาท/กก.จึงถูก ช่วงเดือน กรกฎาคมขยับขึ้นเล็กน้อย ช่วงเดือน สิงหาคม กันยายน ราคาอยู่ที่ 40-45 บาทต่อกก. อาจขยับขึ้นถึง 60-90 บาทต่อกก.หรือสูงกว่านั้น เพราะอยู่ในช่วงไหว้พระจันทร์)ในเมืองจีนภาพรวม มะม่วง จะเริ่มให้ผลผลิต ที่ ไหนาน(เกาะไหลหลำ) จะออกก่อน แล้วมากวางสี ต่อมาที่ยูนาน แล้วมาที่ เสฉวน สาเหตุที่มณฑลเสฉวน โดยเฉพาะในพั่นจื้อฮว้า(Pan Zhihua)ซึ่งมีความสูงกว่าน้ำทะเลมาก จึงทำให้ผลผลิตแก่ล่ากว่าแหล่งผลิตอื่นๆ
ดังนั้นหากใครมีผลผลิต ควรให้อยู่ในช่วง ต้นปี คือช่วงตรุษจีน จนถึงเดือน พฤษภาคม (ทางเหนือยังพอสู้ได้ โดยเฉพาะปีนี้ ของไทยออกล่า ของจีนก็ออกล่าด้วยเช่นกัน) ในช่วงปลายปี ตั้งแต่เดือน ตุลาคม ไป ก็เป็นช่วงที่ยังสามารถขายได้เช่นกัน(เหมาะกับการทำนอกฤดู) เพราะคู่แข่งอย่างออสเตรเลียที่จะเข้าไปแข่งขันนั้นห่างไกล ราคาสูง เกรงแต่ว่ามะม่วงจากไต้หวันที่จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญ แต่ก็นั่นแหละ ภัยธรรมชาติ เป็นผู้กำหนดให้ไทยเราเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ ดังนั้น ใช้ธรรมชาติที่เอื้ออำนวยผสมผสานองค์ความรู้ในการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ เชื่อว่าจีนยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่น่าจับตาอยู่ทีเดียว
รัสเซีย มะม่วง R2E2ปลูกในประเทศไทย แจ้งเกิดในมอสโคว นานกว่า 10 ปี ผมได้เจรจา การค้าเพื่อนำมะม่วง อาร์ทูอีทู และผลไม้ต่าง ๆ เข้าไปขายในรัสเซีย  ชาวรัสเชี่ยน นิยมชมชอบผลไม้ที่มากจากเมืองไทย    ให้ความสำคัญ และถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ หากว่าบ้านใครนำผลไม้ที่มาจากเมืองไทยมาเลี้ยง ถือว่าไฮโซ หรือเป็นครอบครัวที่มีอันจะกินทีเดียว ดังนั้นก่อนเทศกาลต่าง ๆ เช่น คริสมาส หรือปีใหม่  Mather day ชุดของขวัญที่มีผลไม้รวมหลายชนิดจะถูกสั่งไปขายเป็นพัน ๆ กล่องทีเดียว  ส่วนมะม่วง อาร์ทูอีทู ของออสเตรเลียเอง ฤดูกาล จะอยู่ในช่วง เดือนพฤษจิกายน- กุมภาพันธ์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีของไทยที่จะพัฒนามะม่วงสายพันธุ์อาร์ทูอีทู ให้มีความสวยงาม รสชาติคงที่ และปลอดภัย เชื่อเหลือเกินว่า ต่อไปจะขยายไปสู่ตลาดอื่น ๆ ได้ไม่ยากนัก
                ปัญหาของมะม่วงอาร์ทูอีทู คงเหมือนมะม่วงมะหาชนก มีเกษตรปลูกไม่มากนัก เมื่อผลออกในฤดูกาล จะหมดในระยะเวลาสั้นมากไม่เกิน 15  วัน ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง ดังนั้นหากเกษตรกรท่านไดมี ควรจะจัดสรรให้ออกต่อเนื่องเป็นช่วงที่ติดต่อกัน เช่นแบ่งสรรเป็นส่วน ๆ ให้ออกดอกที่เหลื่อมกัน เพื่อเวลาเก็บเกี่ยวจะได้มีผลผลิตที่ยาวกว่าภาวะปกติ แต่อย่าลืม หลัก 3  สำคัญ สามประการ คือ เรื่องของรสชาติ ขอให้เป็นรสชาติที่คงที่ ผิวพรรณสวยงาม และปลอดภัย เนื่องจากมะม่วงอาร์ทูอีทู มีสีสรรที่ต้องเกิดจากถูกแสง เพื่อให้เกิดสีแดงในส่วนบริเวณหัว ดังนั้นจึงยังไม่สามารถห่อผล เพื่อป้องกันแมลง หรือเชื้อโรคได้(เดี๋ยวนี้มีถุงสำหรับห่อมะม่วงอาร์ทูอีทูแล้ว)  ดังนั้นจึงต้องให้ความเอาใจใส่ในเรื่องของการใช้สารเคมีอย่างพิถีพิถัน การดูแลความสะอาดของแปลงปลูก ต้องอาศัยธรรมชาติจากแสงแดดในการฆ่าเชื้อโรค ด้วยการตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งที่เบียด เพื่อทำให้แสดงแดดสามารถส่องผ่านลงถึงพื้นดิน วัชพืชต่าง ๆ ในแปลงปลูกก็เช่นกัน ต้องให้ความสำคัญเอาใจใส่ในการตัด ให้สั้นเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค  การใช้สารเคมีที่ต้องระมัดระวัง การดูแลบำรุงต้นให้สมบูรณ์เพื่อมีภูมิต้นทานโรคต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐานของเกษตรกรอยู่แล้ว เพียงเพิ่มความเอาใจใส่ ปราณีต ละเมียดในการผลิต ก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพระดับสากล
                ตลาดรัสเซียต้องอาศัยประสบการณ์ เป็นตลาดที่มีกำลังการซื้อสูง ดังนั้นการเข้าตลาดในมอสโคว ซึ่งถือเป็นศูนย์การทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา และยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในเขตการปกครองของรัสเซียที่แตกออกมากกว่า 10 ประเทศ  มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน(เอเชียผสมยุโรป) ดังนั้นหากต้องการจะขยายตลาดสิ่งที่ต้องคิดคำนึงมีหลายประการ เช่น ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ข้อมูลพลเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ข้อมูลเศรษฐกิจ รายได้พลเมือง การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง กฎหมาย ระเบียบ การส่งเสริมและภาษี  ภาษา ระบบการเงิน วัฒนธรรมการค้าขาย ต้องทำความเข้าใจให้ท่องแท้ ทางที่ดี ควรรับเงินมาก่อนเป็นดีที่สุด เพราะ ระบบการเงิน ธนาคาร และเงื่อนไขต่าง ๆ ยังยุ่งยากเสี่ยงต่อความเสียหาย แต่ถ้าโชคดีพบเจอนักธุรกิจตัวจริง ก็ถือว่าโชคดี ชวนให้ทำสัญญาอะไรก็ดูเหมือนง่ายดายไปหมด ที่สำคัญ อย่ามองว่าคนรัสเชี่ยนนั้นใช้ของถูก หรือเกรดต่ำ ผมเดินไปในห้างสรรพสินในระดับ 5 ดาว และเห็นพฤติกรรมการซื้อของแล้ว บอกได้คำเดียวว่าอย่ามองภาพผิดนะครับ  ถ้ามองผิด อาจคาดการณ์แบบหลงประเด็น 
                อย่าลืมการพัฒนาต่อยอด ผมทดลองส่งมะม่วงอาร์ทูอีทูไปหลาย Shipment เริ่มตั้งแต่ละสัปดาห์ละไม่กี่ร้อยกิโลกรัม แต่ปัจจุบันส่งได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับมะม่วงน้ำดอกไม้ แต่แนวโน้มสูงขึ้น และเป็นอีกช่องทางหนึ่งของผู้ที่ปลูกมะม่วง อาร์ทูอีทู ในประเทศไทย ในการเปิดตลาดใหม่อย่างรัสเซีย และผมเชื่อว่าตลาดอียู ตะวันออกกลาง หรือตลาดอื่น ๆ ก็น่าที่จะเป็นช่องทางให้กับเกษตรกรที่ต้องการความแปลกใหม่ หรือสร้างสินค้าตัวใหม่ให้กับประเทศไทย หลายคนอาจจะมองว่าไม่ใช่สายพันธุ์ดั่งเดิมของไทย อย่าคิดมากเลยครับ! รับมาแล้วพัฒนาให้ดีกว่าต้นแบบ ขายได้ทั้งนั้น ดูแต่ แก้วมังกร เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อยี่สิบปีที่แล้วผมต้องสั่งแก้วมังกรจากเวียตนามแล้วผ่านไปขายที่ไต้หวัน เดียวนี้ในเมืองไทยปลูกเต็มไปหมดแล้วครับ ดีไม่ดี ได้สายพันธุ์ใหม่ อาจจะรสชาติดีกว่าสายพันธุ์ดั่งเดิมเสียอีกครับ
การติดต่อค้าขาย แม้ว่าจะเป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาไม่นาน แต่เนื่องจากรัสเซียเองมีทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างมากมาย  เช่น ปัจจุบันมีนำมันสำรองเป็นอันดับหนึ่งของโลก  ถือว่ารัสเซียเอง เป็นประเทศที่มีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทำให้ประชากรที่เคยยากจนกลับมีฐานะดี มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าด้านเกษตรของไทยได้รับความนิยม แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องด้านภาษาในการติดต่ออยู่บ้าง แต่ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากเรียนภาษารัสเซีย สามารถจ้างเป็นล่ามได้ไม่ยากนัก  ที่สำคัญ ระบบการเงินของที่รัสเซีย ยังไม่เอื้ออำนวย ธนาคารต่าง ๆ ระบบการ เงิน การเปิดแอลซี ยังไม่พร้อม แต่เชื่อว่าในระยะใกล้ ๆ นี้คงมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างแน่นอน หากหาคนไทยที่มีความรู้ ความสามารถเป็นผู้ช่วยน่าจะสามารถค้าขายได้ ในเรื่องของระบบการค้าขาย ยังมีลักษณะที่มีการคอร์รับชั่นอยู่ ดังนั้นเมื่อมีการซื้อขายกันทางที่ดีควรให้โอนเงินชำระสินค้าล่วงหน้าก่อนการส่ง
ประเด็นที่สำคัญ อย่าเพลินกับผลไม้ที่เราเอามาจากที่อื่น จนลืมพัฒนาสินค้าดั่งเดิมอย่างมะม่วงน้ำดอกไม้ของเรา จะพัฒนาอย่างไร มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่ให้มีผิวที่ทน เนื้อแข็ง หรือจะพัฒนาอย่างไรที่ให้ผิวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแข็งแรงจนสามารถส่งขายทางเรือได้ นั่นก็เป็นอีกช่องทางที่เราทุกคน รวมทั้งมหาวิทยาลัย นักวิจัย ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันคิดว่าจะพัฒนาอย่างไรให้เป็นสินค้าที่เป็นที่นิยม(Popular) ไปทั่วทั้งโลก และให้เกิดความยั่งยืนด้วยครับ!
ผมใช้เวลาในการสำรวจตลาดสดที่ กรุงมอสโคว์ จนที่สุด ได้พบความจริงบางประการว่า ตลาดรัสเซีย เป็นตลาดที่เปิดกว้างสำหรับผักผลไม้ทั้งโลก และเนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีข้อจำกัดในด้านสุขอนามัย กฏระเบียบยังไม่เข้มงวดเหมือนสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้มีไม่กี่ประเทศที่เปิดโอกาสอย่างนี้ ตลาดแห่งนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกมืออาชีพของไทย และยังเป็นอุปสรรค์สำหรับท่านที่คิดว่าทำง่าย ๆ หรือจะนำผักผลไม้ที่ด้อยคุณภาพมาขาย อย่าลืมครับว่าคนที่นี่เป็นคนยุโรป รสนิยม มีวัฒนธรรมเก่าแก่ มีความรู้ มีประวัติศาสตร์ที่พัฒนามายาวนาน  ดังนั้นคุณค่าที่ได้รับ ความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ ยังคงมีความสำคัญไม่ควรละเลย และท้ายที่สุดที่สำคัญ คือระบบการชำระเงินที่ต้องสร้างให้ลูกค้ามีวินัย  มีกฏกติกาที่ชัดเจน การยืดหยุ่น มักจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาเสมอ
                บทสรุป ความสำคัญการผลิต และช่องทางการจำหน่าย จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณภาพ ทั้งตัวสินค้า และบริการ คุณภาพของสินค้า ต้องมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม รสชาติที่คงที  มีความปลอดภัย มีความต่อเนื่องสามารถป้อนตลาดโลกตลอดทั้งปี ส่วนคุณภาพในด้านบริการ ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ไม่ว่าตัวเกษตรกร กลุ่มผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ผู้ขาย Freight Forwarder ต้องเอาใจใส่ รับผิดชอบ ความสัตย์จริง (Integrity) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ คุณธรรม (Moral) อย่าคิดว่าผู้บริโภค หรือลูกค้าไม่รู้ ทำอย่างไรที่จะให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าไปเกินกว่าที่คาดหวัง ถ้าสามารถทำได้อย่างนั้น และทำได้อย่างต่อเนื่อง มีความปราณีต บรรจง อย่าสุกเอาเผากิน หรือมองผลประโยชน์ตนเองเหนือสิ่งอื่นใด อย่าอ้างสารพัดปัญหาของตัวเอง เป็นเงื่อนไขทำให้ขาดความรับผิดชอบ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ในโลกใบนี้ มีคนที่ต้องการขายสินค้าอย่างเดียวกัน มีเงื่อนไขที่ดีกว่า มีความรับผิดชอบที่สูงกว่า เหล่านี้ ที่เรียกว่า สถานะการณ์ การแข่งขัน หากเราสามารถรักษาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ กลับมาซื้อใหม่ ท้ายที่สุดลูกค้า บอกปากต่อปาก กับคู่ค้า กับญาติสนิท มิตร สหาย  เกิดขยายฐานลูกค้า เพิ่มยอดขาย ทำให้เกิดการเติบโตขององค์กร เกิดความมั่นคงในการเงิน เราเรียก รวม ๆ กันว่าเกิดเป็น ความยั่งยืน (Sustainable)” ท้ายที่สุดลูกค้า เกิด ความภักดี (Loyalty)” ต่อองค์กร ต่อตราสินค้า ต่อพนักงาน ลองคิดดูซิครับว่าเหล่านี้ไม่ต้องลงทุนด้วยเงินเลย ในสภาวะการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการแข่งขันในทุกรูปแบบ ภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างไร้ทิศทาง หากไม่หันกลับมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ตัวองค์กร แล้วปรับพัฒนาให้ทันการเปลี่ยนแปลง เชื่อได้ว่า ท้ายสุด อย่าว่าแต่จีนและรัสเซียเลย ตลาดใกล้ ๆ บ้านเราอย่างสิงคโปร์ หรือตลาดไกล ๆ อย่างสหภาพอียู ก็เป็นตลาดมะม่วง อาร์ทูอีทู ที่ไม่ไกลเกินจริงครับ!!!
............................................................................................................

1 ความคิดเห็น: